วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

395 ปี บันทึกของปินโต

บันทึกความทรงจำของแฟร์เนา เมนเดซ ปินโต เรื่อง “Pérégrinação”ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี
ค.ศ.1614 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ รวมทั้งอัตชีวประวัติของเขาอย่างน่าตื่นเต้นและเหลือเชื่อ จนมีการใช้ชื่อของปินโตเล่นคำเชิงล้อเลียนว่าพูดจริงหรือเท็จอย่างสนุกสนานโดยชนชาติศัตรูของโปรตุเกสในยุโรปหรือแม้แต่ชาวโปรตุเกสบางคน บันทึกของปินโตถูกอ้างอิงจากนักประวัติศาสตร์ไทยอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาจนปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงบทบาทของทหารรักษาพระองค์ชาวโปรตุเกส และการพระราชทานที่ดินให้พวกเขาตั้งถิ่นฐานและปฏิบัติศาสนพิธีในสมัยอยุธยา จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบว่าหนังสือฉบับนี้มีสถานะเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือเป็นเพียงนิยายผจญภัย


อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์และผู้อ่านจำนวนไม่น้อยกลับมีความสงสัยต่อความเก่งกล้าสามารถของปินโต บางคนประนามว่างานเขียนของเขาเป็นเรื่องโกหกเพื่อความมีชื่อเสียงของตน แม้แต่ชาวโปรตุเกสเองก็ยังนำชื่อของเขาไปล้อเลียน ทั้งๆที่ปินโตไม่เคยระบุว่า เป็นนิยายประโลมโลก ( Fiction) แต่กลับบอกว่า บันทึกของเขาเปรียบเป็น “ตำรา”ในการสำรวจดินแดนและการเดินเรือไปยังดินแดนต่างๆในโลกตะวันออก ผู้เขียนจึงได้เสนอแนวทางศึกษาเพื่อชี้ให้เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของบันทึกฉบับนี้


ปินโตเป็นชาวเมืองมองเตอมูร์เก่า ใกล้เมืองกูอิงบรา ในราชอาณาจักรโปรตุเกส ปินโตเกิดในครอบครัวยากจนระหว่างค.ศ. 1509-1512 เมื่ออายุประมาณ 10 หรือ 12 ขวบจึงต้องเป็นเด็กรับใช้ของสุภาพสตรีผู้หนึ่ง ในค.ศ. 1523 ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตรายจนต้องหลบหนีลงเรือจากเมืองกูแอ ดึ แปดรา การผจญภัยของปินโตเริ่มขึ้นเมื่อเดินทางไปถึงเมืองดิว (Diu) ในอินเดียในค.ศ.1538 ขณะมีอายุได้ 28 ปี เขาเดินทางกลับมาตุภูมิเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1558 รวมเป็นเวลา 21 ปีของการแสวงโชคในเอเชีย ปินโตเคยเดินทางไปในเอธิโอเปีย จีน อาณาจักรของชาวตาร์ตาร์ โคชินไชนา สยาม พะโค ญี่ปุ่น และหมู่เกาะอินเดียตะวันออกในน่านน้ำอินโดนีเซียปัจจุบัน

ปินโตเคยเผชิญปัญหาเรืออับปาง 5 ครั้ง ถูกขาย 16 ครั้งและถูกจับเป็นทาสถึง 13 ครั้ง ชีวิตในเอเชียของปินโตเคยผ่านการเป็นทั้งกลาสีเรือ ทหาร พ่อค้า ทูตและนักสอนศาสนา เมื่อเดินทางกลับไปถึงโปรตุเกสในปี
ค.ศ.1558 เขาจึงพยายามติดต่อขอรับพระราชทานบำเหน็จรางวัล เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติและศาสนาอย่างเต็มที่ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากราชสำนัก ปินโตจึงไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองปรากัลป์ ใกล้เมืองอัลมาดา ทางใต้ของโปรตุเกส ปินโตเขียนหนังสือขึ้น และถูกตีพิมพ์หลังจากเขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1583


งานเขียนของปินโตตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1614 และแปลเป็นภาษาต่างๆ อาทิ ภาษาฝรั่งเศส (1628) ภาษาอังกฤษ (1653) ใน ค.ศ.1983 กรมศิลปากรได้เผยแพร่บันทึกของปินโตบางส่วนในชื่อ “การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นังด์ มังเดซ ปินโต ค.ศ1537-1558” แปลโดยสันต์ ท. โกมลบุตร ต่อมากรมศิลปากรร่วมกับกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการได้ตีพิมพ์ผลงานบางส่วนของเขาออกเผยแพร่อีกครั้งใน ค.ศ.1988 โดยแปลจากหนังสือชื่อ “Thailand and Portugal : 470 Years of Friendship”


งานเขียนของปินโตถูกนำเสนอในรูปของร้อยแก้ว บางตอนก็ระบุว่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาจากคำบอกเล่าและการสอบถามผู้รู้ อาทิ เหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต บางตอนก็ระบุว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ด้วยตนเอง เช่น เหตุการณ์เดินทางเข้ามายังสยาม 2 ครั้ง เป็นต้น


ปินโตระบุว่า การเล่าเรื่องการเดินทางของเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการเรียนรู้สภาพภูมิศาสตร์ของโลกให้มากยิ่งขึ้น มิได้มีจุดประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความท้อถอยในการติดต่อกับดินแดนแถบเอเชีย เขาระบุว่าอุทิศการทำงานให้แก่พระเจ้ามิได้หวังชื่อเสียง สิ่งที่ผลักดันให้เขาเดินทางไปยังตะวันออก คือ ธรรมชาติของลูกผู้ชาย เขาแสดงความขอบคุณพระเจ้าและสวรรค์ที่ช่วยให้รอดพ้นจากภยันตรายมาได้
ส่วนเฮนรี โคแกนระบุว่า จุดมุ่งหมายในการแปลหนังสือ จากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษ คือ ต้องการให้ผู้อ่านทั่วไปเกิดความพึงพอใจและกระตุ้นให้มีการสำรวจและค้นคว้าทางภูมิศาสตร์ เพื่อเป็นบทเรียนให้สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเรืออับปาง เพื่อทัศนศึกษาดินแดนต่างๆในโลกกว้างและเพื่อเรียนรู้เรื่องราวของ“คนป่าเถื่อน”


จุดมุ่งหมายที่จริงจังของทั้งปินโตและโคแกนสะท้อนให้เห็นคุณค่าของเหตุการณ์ สถานที่ ทรัพยากร อารมณ์ ความรู้สึกและวัฒนธรรมอันหลากหลายของผู้คนที่ปรากฏในหนังสือ อย่างไม่อาจมองข้ามได้ งานของปินโตจึงได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวาง อย่างน้อยๆฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสในปีค.ศ.1628 ก็ถูกอ้างอิงโดยซิมอง เดอ ลาลูแบร์ ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อกล่าวถึงจำนวนเรือที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาก่อนหน้าการเข้ามาของตน ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าหากลาลูแบร์เคยได้ยินการเสียดสีงานเขียนของปินโตมาบ้างก่อนที่จะเดินทางเข้ามาสยาม เขาควรจะได้ตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานจากผู้รู้พื้นเมืองชาวสยามอีกครั้ง ก่อนจะตีพิมพ์งานเขียนของตนที่กรุงอัมสเตอร์ดัมในปีค.ศ.1714 เพราะงานเขียนของปินโตเคยถูกล้อเลียนมาแล้วอย่างอื้อฉาว แต่กลับไม่ปรากฏข้อวิพากษ์ความน่าเชื่อถือของปินโตในงานของลาลูแบร์


หนังสือของปินโตถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวางในยุโรป จึงเป็นเหตุให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง วิลเลียม คอนเกรฟ นักเขียนบทละครชาวอังกฤษได้แทรกบทกวีในบทละครชื่อ “Love for Love” เยาะเย้ยว่า “Mendez Pinto was but a type of thee, thou liar of the first magnitude.” เซอร์ ริชาร์ด เบอร์ตัน ในงานเขียนชื่อ “The Third Voyage of Sinbad, the Sailor” ระบุว่า การผจญภัยของปินโตมีลักษณะคล้ายกับเรื่องราวในนิยายอาหรับและตั้งฉายาเขาว่า “ซินแบดแห่งโปรตุเกส


อย่างไรก็ดี ดึ กัมปุช อดีตกงสุลใหญ่โปรตุเกสเมื่อค.ศ.1936 กลับชี้ว่าหลักฐานของปินโตแสดงให้เห็นว่าเขาเคยเดินทางเข้ามายังสยามจริง
ผู้เขียนเห็นว่างานนิพนธ์ของปินโตมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์มากกว่าจะถูกมองว่าเป็นเพียงวรรณกรรมประโลมโลกหรือนิยายผจญภัยของกลาสีเรือ แม้เนื้อหาบางตอนจะดูตื่นเต้นเร้าใจเกินกว่าจะมีความสมจริงตามทัศนะของนักประวัติศาสตร์ แต่ในสภาวะที่ยุโรปเพิ่งจะพ้นจากยุคแห่งการจุดไฟเผาหญิงสาวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดและยังคงเคร่งต่อจริยธรรมทางศาสนา มีใครบ้างที่จะกล้าเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าตนเองเคยรับประทานเนื้อมนุษย์เพื่อประทังชีวิตกลางทะเลหลังจากถูกโจรสลัดโจมตี ข้อถกเถียงในงานของปินโตอาจจะมีอยู่ไม่น้อย แต่มีหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นใดบ้างที่ปราศจากคำถามและความเคลือบแคลง งานของปินโตถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของศักราชก็เพราะบันทึกของเขาเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นจากความทรงจำเมื่อเขาเดินทางกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในโปรตุเกสระยะหนึ่งแล้ว
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐฯ เคยได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างยิ่งว่ามีความแม่นยำในเรื่องศักราชและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่ต่อมานักประวัติศาสตร์บางท่านก็เคยตั้งข้อสงสัยต่อสถานภาพดังกล่าว ซึ่งถือเป็นความไม่เที่ยงของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในทางกลับกันอาจจะมีผู้ใช้บันทึกของปินโตมาตรวจสอบความแม่นยำของเอกสารฉบับใดฉบับหนึ่งอย่างจริงจังในอนาคตบ้างก็ได้
ภูกระดึง ท่องเที่ยวสุดฮิตของเมืองไทย



ใครไม่เคยไปภูกระดึงไม่รู้หรอก ว่าอาการหลงใหลภูกระดึงมันเป็นยังไง ฉันเองก็รับรู้รสชาตินั้นมา ตั้งแต่ตอนท่องเที่ยวภูกระดึงเมื่อปีที่แล้ว ว่าเย้ายวนชวนคิดถึงแค่ไหน ปลายปีนี้จึงมิอาจตัดใจจากภูกระดึงได้ แม้เส้นทางจะยากลำบากจนหลายคนขยาด แต่ทิวสน ทุ่งหญ้าสีเขียว กับลมหนาวเหน็บ กลับยิ่งกระตุ้นต่อมความอยากให้คว้าเป้ตัวโปรด รองเท้าคู่ใหม่ กับเพื่อนรู้ใจ เดินทางสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงโดยไม่ลังเลใจสักนิด

ส่วนฉันก็พาตัวเองมาถึงหลังแปร ด้วยอาการเม็ดเหงื่อท่วมหน้า ไม่ทันหยุดพัก ก็ต้องบังคับขาให้เดินต่อไปถึงจุดที่พักที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ติดต่อเช่าผ้าปูรองนอน ถุงนอน ผ้านวม และเต็นท์ กว่าทุกอย่างจะลงตัว ก็มืดค่ำพอดี

ภูกระดึงในวันนี้ไม่ต่างจากปีที่แล้ว ยังคงเต็มไปด้วยกรุ่นกลิ่นธรรมชาติ และเรื่องราวความทรหดของเส้นทาง นั่นทำให้ภูกระดึงมีผู้คนพลุกพล่าน ยิ่งเวลานี้ด้วยแล้วมองไปที่ไหนก็เห็นคนหนุ่มคนสาวควงคู่กันมาพิสูจน์รักแท้ พากันตะลุยตะลอนขึ้นภูจากด่านแรกไปจนถึงหลังแปร เห็นแล้วก็แอบยิ้มไม่ได้



อาศัยแสงไฟจากกระบอกไฟฉาย หุงหาอาหารมื้อแรก ได้แก่ ยำไข่ต้ม หมูสวรรค์ แตงกวาจิ้มน้ำพริกกุ้งสด ส่วนข้าวสวยไปซื้อต่างหาก ถุงละ 20 บาท กินได้ 2 คน อาหารมื้อนี้อร่อย ต้นทุนไม่แพง แถมอิ่มท้องกันถ้วนหน้า แล้วก็ได้เวลานับถอยหลังพร้อมกับลมหนาวเหน็บที่พัดโชยรับเทศกาลปีใหม่

สายจนแสงแยงตา ฉันตื่นมานอนยิ้มแผล่บนเตียง ก่อนลุกไปทำธุระส่วนตัว อย่างเชื่องช้า จัดเตรียมอาหารมื้อเช้าเหมือนเช่นเมื่อคืน ขาดแต่ไม่มีแตงกวา กินอิ่มก็หยิบอาหารมื้อเที่ยง มีหมูสวรรค์ ฟรุตผลไม้ ปีโป้ เกลือแร่ และน้ำบรรจุขวด ใส่เป้ให้เรียบร้อย พร้อมย่ำป่าไปตามจุดน้ำตกต่างๆ ระหว่างเพลิดเพลินกับธรรมชาติ จะได้ยินเสียงบ่นเป็นระยะ บ้างบ่นเดินหน้ารามยังดีกว่าเดินภูกระดึง เพราะระยะทางใกล้กว่า บ้างรำพึงรำพันว่าเดินภูกระดึงเหนื่อย แต่ในทางตรงข้ามหลายคนกลับชอบภูกระดึงอย่างที่มันเป็น

ฉันเคยสงสัยทำไมใบเมเปิ้ลถึงทรงอิทธิฤทธิ์ ทำให้ใครหลายคนมุ่งสู่ภูกระดึงเพื่อตามหาใบเมเปิ้ลใบเดียว มาป้วนเปี้ยนภูกระดึงสองรอบถึงเข้าใจ เสน่ห์ของใบเมเปิ้ลสวยเป็นเอกลักษณ์ มองกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ ก็เหมือนกับพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น และตกดินที่ผาหล่มสัก สวยงามไม่เหมือนที่ไหนเช่นกัน



เล่ากันว่าภูกระดึงเคยเป็นทะเลมาก่อน และมีตำนานบอกว่า สมัยก่อนมีพรานป่าตามล่ากระทิงตัวหนึ่ง ซึ่งหลบหนีขึ้นไปยังยอดเขา เป็นภูเขาที่มีใครขึ้นมาก่อน นายพรานตามกระทิงไปจนถึงยอดดอย ก็พบว่าพื้นที่บนเขาลูกนั้น เป็นที่ราบกว้างใหญ่งดงาม มีป่าสน พรรณไม้ และสัตว์ป่านานาชนิด เป็นจุดเริ่มต้นที่มนุษย์ได้รู้จักกับภูกระดึงนั่นเอง

ฉันเดินเที่ยวภูกระดึงไปเรื่อยจนถึงผาหล่มสัก รอคอยพระอาทิตย์ตกดิน แต่ก็ผิดหวัง เพราะฟ้าคลุมเคลือ เมฆหนาบดบัง เลยรีบจ้ำอ้าวกลับที่พักแทน ถึงที่พักไม่ทันไร ลมพัดแรง แล้วเม็ดฝนก็หล่นกระทบเต็นท์ดังเปาะแปะ ระหว่างนี้ฉันก็บรรจงปรุงอาหารค่ำอย่างละเมียดละไม ค่อยๆ ปลอกเปลือกแตงกวา หยิบหมูสวรรค์ หมูเส้น มาโรยบนข้าวสวย ตักน้ำพริกกุ้งสดวางไว้ข้างๆ ยำไข่เค็ม แล้วกินอาหารมื้อนี้ไปพร้อมกับฟังเสียงสายฝน

เมื่อคืนเม็ดฝนหล่น พาให้ใจชื้นว่าวันนี้น้ำตกต้องสวยโดนใจเป็นแน่ ทั้งที่ขายังเจ็บจากการเดินเยอะอยู่ หลังกินอาหารเช้า ก็ตะลอนสู่ป่า ในเส้นทางน้ำตกเพ็ญพบใหม่ เดินทีละก้าวๆ จนถึง ปรากฏว่าน้ำตกยังคงน้อยนิดเหมือนเช่นเมื่อวาน เก็บภาพไปสองสามรูป ก็กลับที่พัก นอนเอกเขนก จนเกือบเย็นถึงออกเจอโลกภายนอกอีกครั้ง ด้วยการเดินไปยังผาหมากดูก เฝ้าดูพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งสวยสง่าสมกับที่รอคอย พลอยนึกถึงตะวันตกดินที่ผาหล่มสัก จะสวยงามขนาดไหนหนอ ไม่ทันจะวาดฝัน ลำแสงสุดท้ายของเจ้าแห่งวันก็ลับตา กลายเป็นความมืดผุดพรายขึ้นมา พร้อมกับความหนาวเย็นแห่งราตรีกาล




แล้วภูกระดึงใต้แสงดาวเคล้าลมหนาว ทำให้คนไกลถิ่นอย่างฉันเคลิ้มจนเกือบลืมบ้านเกิด แต่ความคิดไม่ทันจะเตลิดไปไหน พายุฝนก็เข้ามาทักทายเสมือนเรารู้จักกัน ไม่ใช่แค่เม็ดฝน แต่สายลมแรงกระแทกเต็นท์ดังพรึบพับ พร้อมกับความหนาวเหน็บปกคลุมทั่วภูกระดึง

แปลกจังที่ปีนี้เจอพายุฝน แต่ก็เป็นอีกอารมณ์หนึ่งของภูกระดึงที่ไม่พบเห็นมากนักในช่วงหน้าหนาวเช่นนี้ คงเพราะอากาศแปรปรวนขึ้นทุกที เนื่องจากภาวะโลกร้อน นี่สะท้อนให้เห็นว่าโลกเราป่วยลงทุกวันทุกวัน ถ้าเราช่วยกันอย่างน้อยก็ยังยับยั้งอาการหนักให้บรรเทาลงได้